บทความ

วันสตรีสากล 8 มีนาคม

การกำหนดวันสตรีสากล

          วันสตรีสากล (International Women's Day) ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่เหล่าสตรีจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา อาชีพใด จะร่วมเฉลิมฉลองความเสมอภาคที่ได้รับมา และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในสังคมอีกด้วย
 

ความเป็นมาของวันสตรีสากล

          ประวัติวันสตรีสากล เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คน ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400)

          จากนั้นในปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใด ๆ เป็นผลให้เกิดการเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก

          ความอัดอั้นตันใจจึงทำให้ "คลาร่า เซทคิน" (CLARE ZETKIN) นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมัน ตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งด้วย

 

          อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกร้องครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

          ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อม ๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง

          จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย

          ทั้งนี้ ยังได้รับรองข้อเสนอของ "คลาร่า เซทคิน" ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล

 


คลาร่า เซทคิน
ภาพจาก dhm.de


คลาร่า เซทคิน ผู้ให้กำเนิดวันสตรีสากล

          คลาร่า เซทคิน (Clara Zetkin) เดิมชื่อ คลาร่า ไอนส์เนอร์ ต่อมาแต่งงานกับเพื่อนนักศึกษา ออพซิป เซทกิ้น มีบุตรด้วยกัน 2 คน คลาร่าเป็นนักการเมืองสตรีแนวคิดสังคมนิยม หรือมาร์กซิสต์ เชื้อสายเยอรมัน เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1857 ที่เมืองไวเดอรูว์ แคว้นแซกโซนี ประเทศเยอรมนี ตลอดช่วงชีวิตของคลาร่า เธอได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคของสตรีอยู่ตลอดเวลา โดยในปี ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) คลาร่า เซทคิน ได้แสดงสุนทรพจน์ในเรื่องปัญหาของสตรีต่อที่ประชุมผู้ก่อตั้งสภาคองเกรสสากล ครั้งที่ 2 ในกรุงปารีส ซึ่งใจความสำคัญคือการเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิ์ในการทำงาน ให้มีการคุ้มครองสตรีและเด็ก รวมทั้งยังได้เรียกร้องให้สตรีมีส่วนร่วมในการประชุมระดับชาติและระดับสากลอีกด้วย

          ต่อมาในปี ค.ศ. 1907 คลาร่า เซทคิน ได้ก่อตั้งกลุ่มนักสังคมนิยมสตรีในเยอรมนี ก่อนที่จะเป็นแกนนำของกลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีโรงงานทอผ้า เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา เดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานของสตรี เหลือ 8 ชั่วโมง พร้อมปรับปรุงสวัสดิการในโรงงาน จนนำไปสู่การประชุมขององค์กรสตรีในปี ค.ศ. 1910 พร้อมกันนี้คลาร่าก็ได้เสนอให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 ที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีโรงงานทอผ้า กรุงนิวยอร์ก สหรัฐฯ รวมตัวกันประท้วงก่อนเกิดโศกนาฏกรรม ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของเธอ


          จากนั้นในปี ค.ศ. 1914 คลาร่า เซทคิน ได้ร่วมกับนางโรซา ลักเซมเบอร์ก (Rosa Luxemberg) นักคิดสายแนวคิดสังคมนิยม รณรงค์ต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ 1 ในนามของกลุ่มสปาร์ตาซิสต์ มีจุดประสงค์ที่จะต่อต้านรัฐบาลเยอรมนีที่ส่งทหารไปร่วมรบ เพราะทำให้ประชาชนมีแต่สูญเสีย ต่อมาในปี ค.ศ. 1918 นางเซทคินก็ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมนี และได้เป็นผู้แทนสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี หรือสภาไรซ์สตัก

          ในปี ค.ศ. 1920-1932 คลาร่า เซทคิน เข้าเป็นแกนนำต่อต้านอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งพรรคนาซี และต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการ โดยเธอได้กล่าวสุนทรพจน์โจมตีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อย่างรุนแรง จนถึงปี ค.ศ. 1933 พรรคนาซีเยอรมนีเข้ารวบอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ และอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีอำนาจในการปกครองอย่างเด็ดขาด ทำให้คลาร่า เซทคิน ต้องยุติบทบาทนักการเมืองสายแนวคิดสังคมนิยม ก่อนถูกรัฐบาลตามล่ากวาดล้างจนต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตที่ประเทศรัสเซียแทน และถึงแก่กรรมในปีเดียวกัน

          ความพยายามของคลาร่า เซทคิน ในการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้กับสตรี อีกทั้งยังทำงานเพื่อสตรีมาโดยตลอด ทำให้คลาร่าได้รับการขนานนามจากกลุ่มองค์กรสตรีนานาชาติว่าเป็น "มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล"

 

วันสตรีสากล
 
วันสตรีสากล


ความสำคัญของวันสตรีสากล

          ในวันสตรีสากล บรรดาผู้หญิงในหลาย ๆ ประเทศจากทุกทวีป รวมทั้งองค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิง จะรวมตัวกันเพื่อร่วมฉลองวันสำคัญนี้ และร่วมรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ในหลาย ๆ ประเทศเห็นความสำคัญของวันสตรีสากล จึงได้กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันหยุดประจำชาติ และวันสตรีสากลก็ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่องค์การสหประชาชาติจะได้ร่วมเฉลิมฉลองอีกด้วย

การจัดกิจกรรมวันสตรีสากลในประเทศต่าง ๆ

          จากการที่กำหนดวันสตรีสากลขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 ทำให้มีการจัดกิจกรรมสตรีสากลเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) โดยมีประชาชนทั้งชายและหญิงมากกว่า 1 ล้านคน จากในประเทศออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ เข้าชุมนุมเรียกร้องสิทธิในการทำงาน พร้อมขอให้ยุติการแบ่งแยกในการทำงาน จากนั้นในปีถัดมาก็เริ่มมีการจัดกิจกรรมวันสตรีสากลขึ้นในประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน ตามมา

          ต่อมาในปี ค.ศ. 1913 (พ.ศ. 2456) แรงงานหญิงชาวรัสเซียได้ร่วมชุมนุมที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เพื่อประท้วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เป็นเหตุให้ต้องสูญเสียทหารรัสเซียกว่า 2 ล้านคน แรงงานหญิงกลุ่มนี้จึงเดินขบวนเรียกร้อง แม้จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าปราบปรามก็ตาม แต่ก็ยังไม่ลดละความพยายาม จนอีก 4 วันถัดมา พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียถูกโค่นล้มอำนาจ รัฐบาลที่เข้ามาบริหารใหม่จึงให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่สตรีอย่างเท่าเทียม


          ดังจะเห็นว่ากิจกรรมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในวันสตรีสากลช่วงแรก ๆ นั้น มักเป็นไปเพื่อการเรียกร้องสันติภาพ และต่อต้านสงครามที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในทวีปยุโรป จนเมื่อเวลาผ่านไป ทวีปต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา ต่างเล็งเห็นความสำคัญของวันสตรีสากล จึงร่วมมือกันผลักดันในเรื่องสิทธิมนุษยชนของสตรีมากขึ้นเพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกัน

          อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) องค์การสหประชาชาติได้เข้ามามีบทบาทในการเชิญชวนให้ทุกประเทศในโลกกำหนดวันใดวันหนึ่งเป็นวันฉลองแห่งชาติว่าด้วยสิทธิของสตรีและสันติภาพสากล โดยให้พิจารณาตามขนบธรรมเนียมประเพณี และสภาพทางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ ซึ่งมีหลายประเทศสนับสนุนและได้กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล เช่นกัน

          นอกจากนี้ยังมีการประกาศเกียรติคุณ ยกย่องสตรีที่ทำคุณประโยชน์ให้กับโลกทั้งที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือมีชีวิตอยู่ เช่น เจ้าหญิงไดอาน่า แห่งอังกฤษ, แม่ชีเทเรซา แห่งประเทศอินเดีย, ประธานาธิบดีเมกาวาตี แห่งอินโดนีเซีย และนางออง ซาน ซูจี ของพม่า ที่พยายามเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับประเทศ

 

8 มีนาคม วันสตรีสากล 2557



วันสตรีสากลในประเทศไทย

          ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะมุ่งให้เห็นความสำคัญของสุภาพสตรีเช่นกัน ดังนั้น ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2532 ประเทศไทยจึงได้ก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในสังคม รวมทั้งระลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งความเสมอภาค ยุติธรรม สันติภาพ และการพัฒนา นับตั้งแต่นั้นมาวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ประเทศไทยจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อฉลองเนื่องในวันสตรีสากลด้วย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดนิทรรศการต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักและเห็นความสำคัญของวันสตรีสากล

          อีกด้านหนึ่งก็ได้จัดให้มีการประกาศเกียรติคุณแก่สตรีดีเด่นประจำปี เนื่องในวันสตรีสากล ทั้งนี้ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติสตรีผู้สร้างประโยชน์ในสาขาอาชีพต่าง ๆ โดยผู้ที่เคยได้รับรางวัลดังกล่าว เช่น แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ปวีณา หงสกุล ฯลฯ


          การถือกำเนิดของวันสตรีสากลนี้เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นในการขจัดการแบ่งแยกและการเหยียดเพศให้หมดไป ดังจะเห็นได้ว่าโลกในยุคใหม่นี้ แต่ละแห่งให้ความสำคัญและยอมรับผู้หญิงมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงในปัจจุบันมีบทบาทอย่างแพร่หลายต่อการขับเคลื่อนของสังคม ดังนั้น "วันสตรีสากล" จึงเป็นอีกวันหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงทุกคนได้แสดงความสามารถ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความทัดเทียมกันได้อย่างดี


ขอบคุณข้อมูลจาก
lib.ru.ac.th
- สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา
- สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

/